ก่อนทีเราจะไปทำความรู้จักกับค่าสารเคมีที่เกี่ยวกับสระว่ายน้ำกัน มีใครเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำในสระว่ายน้ำสกปรกได้อย่างไร? เราไปหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันดีกว่า
ปัจจัยที่ทำให้สระว่ายน้ำสกปรก
สระว่ายน้ำไม่ว่าจะอยู่ในร่ม หรือว่ากลางแจ้งก็สามารถมีการปนเปื้อนได้ ส่วนมากแล้วจะมาจาก 3 ปัจจัยดังนี้
ปัจจัยที่ 1
คนที่ลงเล่น รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย โดยทั่วไปแล้วคนที่ว่ายน้ำนั้น เป็นปัจจัยหลัก ๆ ของการปนเปื้อนน้ำในสระว่ายน้ำเลย เนื่องจากว่า สิ่งสกปรก และเศษเล็กเศษน้อยที่อาจติดมากับร่างกาย หรือชุดว่ายน้ำ รวมทั้งอาจเกิดจากของเสียตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น เหงื่อ, ปัสสาวะ หรือแม้แต่ โลชั่นกันแดด, ครีมทาผิว ที่ทามากับตัว และอาจจะมีแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ติดมาด้วยก็มีผลเช่นกัน เนื่องจากว่า สระว่ายน้ำก็เปรียบเหมือนอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ที่มีคนว่ายน้ำหลาย ๆ คนมารวมกัน เพียงแค่ว่าไม่ได้มีการใช้สบู่ หรือแชมพูในการชะล้าง หรือทำความสะอาดออกไปเท่านั้นเอง จึงทำให้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็อาจจะไปปนเปื้อนกับน้ำในสระว่ายน้ำได้เสมอ ดังนั้นจึงต้องมีการวตรวจเช็ค และคอยปรับค่าสารเคมีเป็นระยะ ๆ เพื่อคอยทำความสะอาด และกำจัดสิ่งปนเปื้อน
ปัจจัยที่ 2
สภาพแวดล้อม การปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมนั้นมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงสถานที่ตั้งของสระว่ายน้ำ ว่าเป็นสระว่ายน้ำกลางแจ้ง, สระว่ายน้ำในร่ม ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจควบคุมได้ยาก ในบางสถานการณ์ เพราะบางครั้งเราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน หรือจะมาเมื่อไหร่ เช่น เศษฝุ่น, ใบไม้ ที่ลอยมากับลม หรือ สิ่งขับถ่ายจาก นก สัตว์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน รวมไปถึงแมลง เช่นกัน หรือแม้กระทั่งในช่วงที่ฝนตก น้ำที่มากับฝนบางครั้งก็มีความเป็นกรด หรือมีค่า pH ต่ำก็จะส่งผลให้สระว่ายน้ำสกปรกได้ เหมือนกันทำให้ต้องหมั่นคอยเช็คระดับค่าเคมีของน้ำอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยที่ 3
แหล่งน้ำที่ใช้เติม การเติมน้ำเข้าไปในสระว่ายน้ำใหม่ หรือเติมน้ำลงไปเพิ่มในสระที่มีน้ำอยู่แล้ว แหล่งน้ำเหล่านี้อาจมีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ที่อยู่เป็นจำนวนมาก (เช่นสารอินทรีย์จากพืช และใบไม้ที่เน่าเปื่อย) และโลหะ (เช่นเหล็ก, แมงกานีส, แคลเซียม) หรือแม้กระทั่งน้ำที่ได้จากเทศบาลก็อาจมีสารเคมีที่แฝงมาเพิ่มเติม เช่น คลอรามีน และฟอสเฟต จึงควรวัดและตรวจเช็คน้ำทุกครั้งที่มีการเติม
ตัวแปรที่ใช้สำหรับวัดคุณภาพของน้ำ
จากที่เรารู้ปัจจัยที่ทำให้สระว่ายน้ำสกปรกกันไปแล้วจะเห็นว่าการตรวจเช็คและวัดค่าคุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก แล้วรู้กันหรือไม่ว่าตัวแปรอะไรบ้างที่ใช้ในการวัดคุณภาพน้ำ? ค่าตัวแปรที่เกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ โดยทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 7 ตัว ซึ่งเป็นค่าที่จะบ่งบอกว่าน้ำในสระว่ายน้ำนั้นมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร และมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ซึ่งตัวแปร ทั้ง 7 ตัวนั้นมีดังนี้
1. Free Chlorine
ค่าคลอรีนอิสระ เป็นค่าปริมาณคลอรีนที่ยังไม่ได้รวมตัวเข้ากับน้ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ค่าปริมาณคลอรีนที่มีอยู่ และพร้อมสามารถฆ่าเชื้อโรค และกำจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายในสระว่ายน้ำได้ คลอรีนประเภทนี้มีความสำคัญอย่างมากในการฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ เพราะถ้าหากมีคลอรีนอิสระในน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค แบคทีเรีย และสารปนเปื้อนอื่น ๆ ที่ก่อตัวขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย โดยปกติค่าที่เหมาะสมของค่าคลอรีนอิสระควรรักษาให้อยู่ในระดับที่ 1.5 – 3 ppm
2. Combine Chlorine
ค่าคลอรีนรวม เป็นค่าคลอรีนที่เกิดขึ้นมาในกระบวนการฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ ในระหว่างกระบวนการฆ่าเชื้อโรค คลอรีนจะจับตัวกับแบคทีเรีย หรือ สารปนเปื้อนต่าง ๆ ในน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นค่าคลอรีนรวมขึ้นมา รู้หรือไม่ว่ากลิ่นคลอรีนจากสระว่ายน้ำ ก็เกิดขึ้นเพราะมีคลอรีนรวมในน้ำนั่นเอง การที่มีคลอรีนรวมอยู่ในน้ำในสระว่ายน้ำ หมายความว่า คลอรีนอิสระกำลังฆ่าเชื้อโรค และกำจัดสารปนเปื้อนบางอย่างในน้ำอยู่นั่นเอง แต่สระว่ายน้ำที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้ออย่างสมบูรณ์ควรจะมีปริมาณคลอรีนรวมกันเป็นศูนย์ หรือปริมาณคลอรีนรวมในน้ำควรน้อยกว่า 0.5 ppm
3. Total Chlorine
ค่าคลอรีนทั้งหมด คือ ผลรวมของคลอรีนอิสระ และคลอรีนรวม สำหรับสระว่ายน้ำที่สะอาด สามารถใช้ปริมาณคลอรีนทั้งหมดนี้ เป็นตัวแปรเพื่อกำหนดปริมาณคลอรีนอิสระในน้ำได้ เนื่องจากคลอรีนรวมควรมีค่าเป็นศูนย์ แต่อย่างไรก็ตามหากมีคลอรีนรวมอยู่ในน้ำควบคู่ไปกับคลอรีนอิสระจะทำให้การวัดคลอรีนทั้งหมดควบคุมได้ยาก เนื่องจากปริมาณคลอรีนอิสระ และคลอรีนรวมที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถบอกอะไรได้มากนัก
4. pH
ค่า pH คือ ค่าความเป็นกรดด่าง หากในสระว่ายน้ำพบว่ามีค่า pH ต่ำกว่า 7.0 นั่นหมายถึงว่าน้ำในสระว่ายน้ำเริ่มมีค่าเป็นกรด แต่ถ้าหากมีค่าระดับที่สูงกว่า 7.0 หมายถึงว่าน้ำนั้นมีค่าเป็นด่าง ซึ่งหากมีค่า pH ต่ำ จะส่งผลทำให้น้ำมีความเป็นกรดสูง และสามารถกัดกร่อนอุปกรณ์สระว่ายน้ำ ต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงพื้นผิวของสระว่ายน้ำ และยังอาจทำให้ผู้ลงเล่นน้ำเกิดการระคายเคืองอีกด้วย แต่ถ้าหากค่า pH สูงจะส่งผลให้น้ำมีค่าเป็นด่าง ทำให้เกิดการก่อตัวของคราบตะกรันบนพื้นผิว และอุปกรณ์ของสระว่ายน้ำ อาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลงด้วย และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของคลอรีนลงอย่างมาก จึงเป็นอีกค่าหนึ่งที่มีความสำคัญในการรักษาคุณภาพน้ำ ควรรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 7.2 – 7.8
5. Total Alkalinity
ค่าความเป็นด่างรวม คือค่าที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำที่มีความใกล้ชิดกับค่า pH โดยการวัดค่าตัวแปรตัวนี้ เป็นการวัดค่าของคาร์บอเนต, ไบคาร์บอเนต, ไฮดรอกไซด์ และสารอัลคาไลน์อื่น ๆ ที่พบในน้ำ ซึ่งความเป็นด่างนั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้ค่า pH กระโดดขึ้น (หรือลง) รวดเร็วจนเกินไป ซึ่งในทางเคมีความเป็นด่างนั้นเป็นตัวยับยั้งค่า pH หากค่าความเป็นด่างรวมต่ำเกินไป ผลที่ตามมาคือสามารถทำให้น้ำมีฤทธิ์กัดกร่อนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หากความเป็นด่างสูงขึ้นจะทำให้ในสระว่ายน้ำเกิดคราบตระกรันสะสมมากขึ้น โดยปกติแล้วควรควบควบคุมระดับของค่าความเป็นด่างรวมให้อยู่ที่ระหว่าง 80 – 120 ppm
6. Total Hardness
ค่าความกระด้างรวม เป็นการทดสอบความกระด้างของแคลเซียม หมายถึงการวัดว่าน้ำมีความ “กระด้าง” มากน้อยเพียงใด หากน้ำมีความกระด้าง จะทำให้เกิดแคลเซียม และแมกนีเซียมในระดับสูง หากระดับเหล่านี้สูงเกินไปจะทำให้น้ำมีความอิ่มตัว และจะกำจัดอนุภาคส่วนเกินออกจากสารละลายซึ่งจะพยายามสะสมตัวเองบนพื้นผิวเกือบของสระว่ายน้ำ พวกมันสามารถดึงดูดกัน และเกาะตัวกันจนเกิดเป็นก้อนผลึกขนาดเล็ก ๆ ขึ้นตามบันได ไฟสระว่ายน้ำ แต่ถ้าหากปล่อยให้ระดับความกระด้างของแคลเซียมต่ำเกินไป น้ำจะมีความอิ่มตัวต่ำ ทำให่น้ำจะมีสภาพเป็นกรดมากยิ่งขึ้น เช่นนั้นควรรักษาระดับให้อยู่ในค่าที่แนะนำ คือความกระด้างของแคลเซียมควรอยู่ที่ 200 – 400 ppm
7. Cyanuric Acid
กรดไซยานูริก หรือที่เรียกกันว่าตัวปรับสภาพ เป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับป้องกันไม่ให้คลอรีนเสื่อมสภาพจากการได้รับรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ถ้าหากระดับกรดไซยานูริกต่ำเกินไป จะทำให้สูญเสียความสามารถในการป้องกันคลอรีนจากดวงอาทิตย์ไป แต่ถ้าหากระดับกรดไซยานูริกสูงเกินไปคลอรีนจะไม่ได้ผล เพราะจะถูกโมเลกุลของกรดไซยานูริกจับตัวไว้ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำปฏิกิริยากับสารปนเปื้อน
* หลังจากที่เราได้รู้จักตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำกันไปแล้ว หรือสามารถดูค่ามาตรฐานของน้ำในสระว่ายน้ำ ได้ในตารางด้านล่างนี้
ค่ามาตรฐานของน้ำในสระว่ายน้ำ สำหรับสระว่ายน้ำคลอรีน
Chlorine Chemical Pool | Chemical Level |
Free Chlorine Level – ระดับคลอรีนอิสระ | 1.5 – 3 ppm |
Combined Chlorine – ระดับคลอรีนรวม | 0 – 0.5 ppm |
pH Level – ระดับความเป็นกรด-ด่าง | 7.2 – 7.6 |
Total Alkalinity Level – ระดับค่าความเป็นด่างรวม | 80 – 150 ppm |
Total Hardness Level – ระดับค่าความกระด้างรวม | 200 – 400 ppm |
Cyanuric Acid – ระดับกรดไซยานูริค | 20 – 40 ppm |
ค่ามาตรฐานของน้ำในสระว่ายน้ำ สำหรับสระว่ายน้ำระบบเกลือ
Chlorine Chemical Pool | Chemical Level |
Salt Level – ค่าความเข้มข้นของเกลือ | 3500 – 4500 ppm |
Free Chlorine Level – ระดับคลอรีนอิสระ | 1.5 – 3 ppm |
Combined Chlorine – ระดับคลอรีนรวม | 0 – 0.5 ppm |
pH Level – ระดับความเป็นกรด-ด่าง | 7.2 – 7.6 |
Total Alkalinity Level – ระดับค่าความเป็นด่างรวม | 80 – 150 ppm |
Total Hardness Level – ระดับค่าความกระด้างรวม | 200 – 400 ppm |
Cyanuric Acid – ระดับกรดไซยานูริค | 20 – 40 ppm |
การทดสอบและตรวจเช็ค ค่าคุณภาพน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากเราไม่คอยดูแลระดับน้ำให้มีความเหมาะสม สิ่งที่ตามมา คุณต้องไม่ชอบมันแน่ ๆ เพราะวระว่ายน้ำของคุณอาจจะสกปรก และเต็มไปด้วย เชื้อโรค หรือคราบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอาจทะให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของคุณเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่คอยหมั่นตรวจเช็ค และปรับสภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่แนะนำ ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ก็จะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดลงไปได้มากทีเดียว เห็นหรือยังครับ ว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด ครั้งหน้าเราจะนำความรู้หรือการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสระว่ายน้ำ อะไรมาฝากกันอีกอย่าลืมติดตามได้ที่เว็บไซต์ ของเรานะครับ